ดินเปรี้ยวคืออะไร

ดินเปรี้ยว หรือที่เรียกกันว่าดินกรดกำมะถัน Acid Sulfate Soils คือดินที่มีสภาพความเป็นกรดรุนแรง จนส่งผลให้ธาตุอาหาร สารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชขาดความสมดุล เช่น บางชนิดอาจมากเกินไป บางชนิดอาจน้อยเกินไป ซึ่งมีผลให้ต้นไม้เติบโตได้ช้า ใบไหม้ และยังทำลายจุลินทรีย์ใต้ดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอีกด้วย ดินเปรี้ยวจะมีสารไพไรต์ FeS2 ที่เกิดจากกระบวนการออกซิเดชั่นในชั้นดิน จนเกิดเป็นกรดกำมะถัน มีฤทธิ์รุนแรงมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะพบจากสารจาโรไซต์ที่มีสีเหลืองเหมือนสีฟางข้าวอยู่ในหน้าดิน หรือพบมากในตะกอนน้ำทะเลความลึก 150 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะพบบริเวณชายฝั่งทะเล บริเวณพื้นที่น้ำกร่อย ลุ่มน้ำท่วมขัง อาจจะดูแล้วน้ำใส แต่จะปนเปื้อนคราบสนิมเหล็ก ทั้งในดินและบริเวณผิวน้ำด้วย หรืออาจพบในชั้นดินเลนเหนียว หรือดินร่วนเหนียวปนทรายก็ได้ ดินเปรี้ยวจะเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ ก็คือ

1. ดินเปรี้ยวที่เกิดจากธรรมชาติ

แปลงพืชผักที่มีดินเปรี้ยว อาจจะเพราะแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ป่าชายเลน บริเวณน้ำกร่อย และมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ทำให้เกิดการสะสมตะกอนน้ำทะเล หรือน้ำกร่อย โดยจะมีกำมะถันทับถมกันเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดเป็นดินตะกอน เมื่อเปลี่ยนไปเป็นสภาพพื้นที่แห้ง ทำให้ดินเต็มไปด้วยกำมะถัน ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่ดินมีสีเทาเข้ม และหากเราขุดลงไปประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร จะพบจุดสีน้ำตาลแดง หรือสีเหลืองเข้ม ปะปนอยู่ในชั้นดินเป็นจำนวนมาก

2. ดินเปรี้ยวที่เกิดจากฝีมือมนุษย์

เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นระยะเวลานาน ๆ ทำให้เกิดการสะสมในชั้นดิน ส่งผลทำให้หน้าดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ เคยปลูกพืชไร่ได้ผลดี กลายเป็นดินที่มีสภาพเสื่อมโทรม จนทำให้เกิดดินเปรี้ยว ซึ่งจำเป็นที่ผู้ที่ปลูกพืชสวนพืชไร่ เกษตรกรคนรักต้นไม้ทั่วไป ควรจะต้องระมัดระวังป้องกันไว้ด้วยเช่นกัน

 

สาระความรู้

Comments are disabled.